อย่างแรกที่เราพูดถึงคือ ท้องเสีย หรือ อุจจาระร่วง (Diarrhea) คืออาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชม. โดยทั่วไปอาการท้องเสียมักเกิดขึ้น และอาจหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน หรือด้วยการทานยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน โดยอาการท้องเสียหรืออุจจาระร่วง มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ ในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ร่างกายขาดสารน้ำจนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ถ้ามีอาการท้องเสียที่มีมูกเลือดปน ตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์
ท้องเสีย แบ่งออกเป็น 3 แบบ
- ท้องเสียแบบเฉียบพลัน (Acute diarrhea) เป็นอาการท้องเสียทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน โดยจะมีอาการประมาณ 1-3 วัน จากนั้นโดยส่วนมากอาการจะทุเลาลงและค่อย ๆ หายไปเอง โดยไม่ต้องใช้ยารักษาโรค
- ท้องเสียแบบต่อเนื่อง (Persistent diarrhea) เป็นอาการท้องเสียแบบต่อเนื่องประมาณ 2-4 สัปดาห์
- ท้องเสียแบบเรื้อรัง (Chronic diarrhea) เป็นอาการท้องเสียแบบต่อเนื่องเกิน 4 สัปดาห์ หรือเป็นๆหายๆ ต่อเนื่องเรื้อรังเป็นระยะเวลายาวนาน
ท้องเสีย มีสาเหตุจาก
ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วง ส่วนมากมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิตที่ปะปนอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่
- การติดเชื้อไวรัสในกระเพาะอาหาร และลำไส้
- การติดเชื้อไวรัสโรต้า ไวรัสที่มักพบเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย
- การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิตในระบบทางเดินอาหาร ผ่านทางอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด หรืออาหารเป็นพิษ
- การรับประทานอาหารที่มีรสจัด หรืออาหารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารอาหาร
- โรคซีลิแอค หรืออาการแพ้กลูเตน ในอาหารจำพวกแป้งบางชนิด เช่น แป้งสาลี
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- อาการแพ้น้ำตาลแลคโตส น้ำตาลฟรุกโตส หรือแพ้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- ยารักษาโรคบางชนิด เช่นยาปฎิชีวนะ ยาต้านมะเร็ง และยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
- ความผิดปกติในการดูดซึมอาหาร
- โรคมะเร็งตับอ่อน หรือตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ตับอ่อนทำหน้าที่ในการผลิตน้ำย่อย หากมีภาวะอักเสบจะทำให้ระบบการย่อยและการดูดซึมไขมันทำได้ไม่ดี ทำให้มีอาการถ่ายเหลวในที่สุด
- เนื้องอกที่กระตุ้นให้ฮอร์โมนในลำไส้เพิ่มการหลั่งสารคัดหลั่ง ทำให้ถ่ายเหลว
- รังสีรักษา
ท้องเสีย มีอาการอย่างไร
ท้องเสีย หรืออุจจาระร่วงมีระดับความรุนแรงแตกต่างกันไป ตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงระดับรุนแรง ทั้งนี้อาการท้องเสียในระดับที่รุนแรงอาจมีความเชื่อมโยงกับโรคที่มีความซับซ้อนบางชนิดที่ต้องได้รับวินิจฉัย และทำการรักษาโดยแพทย์ อาการของโรคท้องเสียมีดังนี้
- ปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือปวดบิด
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้ ปวดศรีษะ
- หน้าแดง และผิวแห้ง
- อุจจาระมีเลือดปน
- อุจจาระมีมูก หรือเมือกปน
- ถ่ายอุจจาระบ่อย

ภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องเสีย อาการท้องเสียอาจทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดสารน้ำ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะขาดสารน้ำเป็นอันตรายอย่างยิ่งในเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หากผู้ที่ท้องเสีย มีสัญญาณของภาวะขาดสารน้ำอย่างรุนแรง ให้รีบนำส่งแพทย์ โดยเร็วที่สุด
การรักษาอาการท้องเสีย
อาการท้องเสียแบบเฉียบพลัน สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาผงถ่านคาร์บอน หรือผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส แต่หากอาการท้องเสียมีระยะเวลาต่อเนื่องเกิน 2-3 วัน มีไข้สูง และมีเลือดปนในอุจจาระ ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการท้องเสียอย่างละเอียด โดยแพทย์จะทำการซักประวัติคนไข้ และทำการรักษาด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป ตามสาเหตุของโรคท้องเสีย ได้แก่
- ยาปฏิชีวนะ แพทย์อาจสั่งยาปฏิชีวนะหรือยาถ่ายพยาธิ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย
- การใช้ยารักษาเฉพาะอาการ อาการท้องเสียอาจแสดงออกซึ่งสัญญาณของโรคอื่น ๆ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เช่น โรคโครห์น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบชนิดไมโครสโคปิก หรือภาวะแบคทีเรียที่เติบโตมากผิดปกติในลำไส้ เมื่อแพทย์สามารถระบุสาเหตุของอาการท้องเสียได้แล้ว แพทย์จึงจะสามารถทำการรักษาโรคได้อย่างตรงจุด
- โปรไบโอติก แพทย์อาจใช้โปรไบโอติก ซึ่งเป็นจุลชีพชนิดดีช่วยในการรักษา โดยจุลชีพเหล่านี้จะต่อสู้กับแบคทีเรียที่ไม่ดีอันเป็นสาเหตุของอาการท้องเสีย อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยการให้โปรไบโอติก ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น
อาการท้องเสียเป็นอาการที่เราทุกคนสามารถพบเจอได้ในช่วงชีวิต อาการท้องเสียอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากร่างกายขาดน้ำ และการสูญเสียเกลือแร่ จนอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทารก เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญคือ ต้องดื่มน้ำเกลือแร่ให้มาก ๆ เพื่อชดเชยของเหลวที่ร่างกายสูญเสียไป หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ล้างมือเป็นประจำ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อวันเพื่อป้องกันโรคท้องเสีย
หากมีอาการท้องเสีย หรือมีอาการแทรกซ้อนจากท้องเสีย หรือมีอาการท้องเสียเรื้อรัง ควรรีบพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลที่มีความพร้อมของบุคคลาการทางการแพทย์ผู้ชำนาญการ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อช่วยให้การวินิจฉัยโรคและการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิ