มีคำแนะนำ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านลงความเห็นว่า แม้ผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ควรซื้อยากินเอง (การซื้อยากินเองในที่นี้ หมายถึงซื้อยาตามร้านค้าที่ไม่มีแพทย์หรือเภสัชกรควบคุมดูแล) เพราะยาทุกชนิดมี คำเตือนในการกำกับการใช้ยา และยาทุกชนิดมีอันตรายทั้งสิ้น ดังนั้นควรใช้ภายใต้การควบคุมและดูแลโดยแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้ยาถูกต้องกับโรค โรคภัยไข้เจ็บไม่ลุกลาม
มีการบริโภคยาอย่างไม่เหมาะสมและเกินความจำเป็นในทุกระดับ โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ประชาชนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจใช้ยาปฏิชีวนะด้วยตนเองก่อนจะไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการใช้ยาโดยไม่จำเป็นหรือมีการใช้ยาไม่ครบขนาด ซึ่งก่อให้เกิดการดื้อยาได้ จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยร้อยละ 38.6 มีประวัติการใช้ยาปฏิชีวนะก่อนมาโรงพยาบาล ยาที่มีการใช้เป็นประจำมากติดอันดับโดยเรียงตามลำดับดังนี้
- ยาแก้ปวด
- ยาบำรุงร่างกาย
- ยานอนหลับ
- ยากล่อมประสาท
- ยาลดความอ้วน

พฤติกรรมการเลือกร้านยา
เรียงลำดับความสำคัญของการเลือกร้านยาแล้ว จะเลือกใกล้บ้านเป็นอย่างแรก และต่อมามีเภสัชกรให้ความรู้เรื่องยากับลูกค้าได้เป็นอย่างดี อีกอย่างที่เหตุผลในการซื้อคือ ความน่าไว้วางใจ แล้วส่วนใหญ่จะคอยมีพนักงานในร้าน แนะนำขายยาดีมาก บางครั้งอาจจะดูที่ร้านยามีชื่อเสียง และมีความน่าเชื่อถือในการที่เราจะเลือกซื้อยามารับประทานเอง
ประชาชนที่ซื้อยากินเองหรือไปคลินิกเอกชนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การไปรักษาพยาบาลที่สถานีอนามัยและศูนย์สุขภาพชุมชน โรงพยาบาลชุมชน มีแนวโน้มที่ลดลง ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณ หนึ่งในสี่ นิยมไปซื้อยากินเองมากสุด เนื่องจากเห็นว่าอาการป่วยไข้ของตนเองนั้นไม่หนักหนานักและหาซื้อได้สะดวก
อันตรายจากการใช้ยาอันตรายของยาอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- การดื้อยาและการต้านยา (Drug Resistance and Drug Tolerance)
- การใช้ยาในทางที่ผิดและการติดยา (Drug Abuse and Drug Dependence)
- การแพ้ยา (Drug Allergy or Hypersensitivity)
- ผลข้างเคียงของยา (Side Effect)
- พิษของยา (Toxic effect at therapeutic blood level)
- การใช้ยาเกินขนาด (Overdosage toxicity)
- ปฏิกิริยาต่อกันของยา (Drug interaction)
- การตอบสนองต่อยาในคนที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์
การศึกษาพฤติกรรมการซื้อยากินเอง
ผู้บริโภคที่เลือกร้านยาเป็นที่พึ่งยามเจ็บป่วย ดังนี้ พบว่า 80% ของกลุ่มตัวอย่างนิยมใช้บริการสุขภาพจากร้านยา เข้าร้านยาประมาณ 2-3 ครั้งในรอบหนึ่งปี และ กลุ่มที่มีโรคประจำตัว (เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต และโรคภูมิแพ้) จะเข้าร้านยาบ่อยครั้งกว่ากลุ่มย่อยอื่นๆ โดยเลือกเข้าร้านยาที่ตนเชื่อว่ามีเภสัชกรอยู่ประจำร้านตลอดวัน
ผู้บริโภคจะเลือกใช้บริการร้านยามีชื่อยาที่ตนเองต้องการซื้ออยู่แล้ว และส่วนใหญ่ก็ซื้อได้ดังใจต้องการ อีกส่วนหนึ่งที่ไม่มีรายการยาที่เจาะจงจะซื้อ แต่จะซื้อตามที่เภสัชกรแนะนำ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จ่ายค่ายาที่ซื้อจากร้านยาเฉลี่ยประมาณคนละ 100 บาทต่อครั้ง ผู้ที่อยู่ในเศรษฐานะในระดับดี ถึง ดีมาก จะจ่ายเงินมากกว่าผู้ที่อยู่ในระดับล่าง ถึง ปานกลาง และ อันดับความเจ็บป่วยของผู้บริโภคกลุ่มลูกค้าร้านยา ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้ออ่อนเพลีย และท้องเดิน
การป้องกันอันตรายจาการใช้ยา
- ต้องทำความรู้จักยาทั้งในแง่สรรพคุณ ผลข้างเคียง ขนาดที่ใช้ ระยะเวลาที่ใช้ ไม่ใช้อย่างเดาสุ่ม อย่างครอบจักรวาล อย่างพรํ่าเพรื่อ หรืออย่างไม่รับผิดชอบ
- ต้องทำความรู้จักกับคนไข้ที่จะใช้ยา ถามประวัติการแพ้ยา โรคภูมิแพ้ในตัวคนไข้และครอบครัว อาการซีดเหลืองที่เกิดขึ้นประจำ
- ควรศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากการอ่านตำรา หรือสอบถามผู้รู้
- ควรแนะนำให้ชาวบ้านรู้จักโทษของยา หากจะเลือกซื้อยากินเอง ควรรู้จักยาชนิดนั้น ๆ ให้ดี อย่าปล่อยให้ทางร้านขายยาจัดยาชุดที่ไม่รู้จักให้ เพราะในยาชุดมักมียาอันตรายผสมอยู่ด้วย เช่น คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) เพร็ดนิโซโลน (Prednisolone) ฯลฯ
- ควรแนะนำให้ร้านขายยารับผิดชอบต่อการจ่ายยาให้แก่ลูกค้า อย่าจ่ายยาอันตรายอย่างพรํ่าเพรื่อ
- อย่าฉีดยาโดยไม่จำเป็น เลือกฉีดในรายที่อาการรุนแรงหรืออาเจียน กินไม่ได้ เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการแพ้ยาแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น เป็นฝีหัวเข็ม (ฝีที่เกิดเป็นก้อนแข็งๆหลังการฉีดยา) โรคตับอักเสบจากไวรัส หรือโรคเอดส์และอาจฉีดถูกเส้นประสาทได้อีกด้วย