เคยมีสักครั้งบ้างไหม ที่ท่านมีความกังวลต่อการติดเชื้อต่างๆ หลังจากมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน และมีความสงสัยว่า โรคติดเชื้อที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากที่มีความเสี่ยง มีอะไรบ้าง และจะสามารถป้องกัน หรือสังเกตอาการได้อย่างไร หนึ่งในโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นได้ หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงคือ โรคซิฟิลิส
ซิฟิลิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า Treponema pallidum (ทรีโพนีมา แพลลิดัม)

เราสามารถติดเชื้อซิฟิลิส ได้อย่างไรบ้าง
- การติดเชื้อจากแม่สู่ลูกขณะตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร
- การได้รับเชื้อโดยการสัมผัสโดยตรงกับบริเวณที่มีการติดเชื้อ เชื้อซิฟิลิสจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง และเยื่อบุต่างๆ การติดเชื้อโดยวิธีนี้ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ
ระยะฟักตัวของเชื้อซิฟิลิส
หลังจากเราได้รับเชื้อซิฟิลิสแล้ว เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-4 สัปดาห์ และอาจนานจนถึง 3 เดือน ก่อนที่เราจะเริ่มมีอาการแสดงของการติดเชื้อซิฟิลิส อาการของโรคซิฟิลิส จะแบ่งออกเป็น 4 ระยะดังนี้
- ระยะที่ 1 หลังจากได้รับเชื้อไปประมาณ 3 สัปดาห์ ในผู้ชายจะเริ่มมีแผลริมแข็ง (Chancre) บริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศ ไม่เจ็บ ในผู้หญิง แผลอาจจะซ่อนอยู่ในช่องคลอด และในบางคนจะพบแผลบริเวณทวารหนักได้ ผู้ป่วยหลายรายไม่ทราบว่าเคยมีแผลลักษณะนี้มาก่อน เนื่องจากแผลจะสามารถหายได้เองในระยะเวลาไม่นาน แต่เชื้อซิฟิลิส จะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและก่อเกิดโรคซิฟิลิส ในระยะต่อไป
- ระยะที่ 2 หลังจากแผลริมแข็งหายไปประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะเกิดอาการของโรคซิฟิลิส ในระยะที่ 2 โดยเชื้อซิฟิลิสได้เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้วเข้าไปในกระแสเลือด ผู้ป่วยจึงมีอาการทางร่างกายอื่นๆ ได้แก่ ไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ มีผื่น ซึ่งมักจะพบบริเวณฝ่ามือ และฝ่าเท้า สามารถพบผื่นบริวเณแขนขาและลำตัวได้เช่นกัน โดยจะไม่มีอาการคันในบริเวณผื่น ผื่นอาจจะหายได้เองจะเกิดเป็นซ้ำอีก
- ระยะแฝง ระยะนี้เป็นระยะที่ไม่มีอาการใดๆ ซึ่งกินระยะเวลานานได้เป็นปี โดยเกิดขึ้นหลังจากผู้ป่วยเป็นซิฟิลิส ระยะที่ 2 แล้วไม่ได้รับการรักษา โดยส่วนใหญ่จะตรวจพบขณะมาตรวจเลือด เช่น มารดาตรวจพบขณะฝากครรภ์ หรือการตรวจสุขภาพที่ระบุการตรวจเชื้อซิฟิลิส เป็นต้น
- ระยะที่ 3 ระยะนี้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่อวัยวะภายใน ผู้ป่วยอาจมีอาการ ตาบอด หูหนวก มีอาการพิการทางสมอง มีโรคหัวใจ เส้นเลือด ตับ กระดูก และข้อต่อต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากได้รับเชื้อนานหลายปีโดยไม่ได้รับการรักษา
เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราติดเชื้อซิฟิลิส
การวินิจฉัยซิฟิลิส ตรวจยืนยันได้จากการเจาะเลือด ในการติดเชื้อซิฟิลิสระยะต้นๆ อาจมีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากบริเวณที่มีการติดเชื้อ เช่นแผลริมแข็ง ไปตรวจหาเชื้อร่วมด้วย ส่วนในระยะที่ 3 แพทย์อาจเจาะน้ำจากไขสันหลังเพื่อตรวจความผิดปกติในระบบประสาทร่วมด้วย
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจการติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจพบร่วมกันได้ จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน เช่น การติดเชื้อ HIV เป็นต้น
การรักษาโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิส เป็นโรคที่สามารถรักษาได้หายขาด ในกรณีที่เข้ารับการรักษาในระยะต้นๆ โดยแพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อซิฟิลิส และแพทย์จะแนะนำให้พาคู่นอนเข้ามารับการตรวจ และรักษาร่วมด้วย
ดังนั้น หากท่านกังวลว่ามีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อซิฟิลิส ท่านควรเข้ารับการตรวจ แม้ว่าจะไม่มีอาการใดๆ ก็ตาม การตรวจพบโรคซิฟิลิส ตั้งแต่ระยะต้นๆ ท่านจะได้รับการรักษาที่เหมาะสม และหยุดการลุกลามของโรคได้
การป้องกันและรักษา
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่สำส่อนทางเพศ รวมถึงหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย
- ควรพบแพทย์เสมอ หากเกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะหลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อเข้าตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง
- หากพบว่าเป็นโรคซิฟิลิส แม้ไม่แสดงอาการ ก็ควรไปพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เนื่องจากเชื้อซิฟิลิสสามารถฝังตัวในกระแสเลือดเป็นระยะเวลานาน
- การรักษาโรคซิฟิลิส แพทย์ทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินในขนาดสูง โดยผู้ป่วยต้องไปฉีดยาตามนัดทุกครั้ง การขาดยาจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถรักษาโรคจนหายขาด
แม้ปัจจุบันการแพทย์จะพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่โรคร้ายภัยเงียบอย่างซิฟิลิสก็สามารถกลับมาระบาดอย่างรวดเร็ว หนึ่งในเหตุผลหลักคือ ผู้ป่วยไม่ใส่ใจป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย ไม่ระมัดระวังเรื่องการเลือกคู่นอน ใจร้อนอยากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่คิดวางแผนป้องกันใดๆ รวมถึงไม่เคยเข้ารับการตรวจโรค นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการอย่างเด่นชัดจนกว่าจะเป็นระยะสุดท้าย ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวกลายเป็นพาหะของโรคไปโดยไม่ตั้งใจ
ดังนั้นผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำทุกปี แม้จะไม่มีอาการใด ๆ แสดงก็ตาม โรคซิฟิลิสอาจจะดูรุนแรงแต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้