ทั้ง 2 โรคนี้แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มไวรัสเดียวกัน แต่เป็นคนละชนิด โดยเชื้อไข้ทรพิษนี้จะติดต่อกันแบบคนสู่คนผ่านระบบทางเดินหายใจเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการไอ จาม ทำให้แพร่ผ่านละอองฝอย สารคัดหลั่ง ผิวหนังจะแห้งตกสะเก็ด และหลุดจนหมด เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นรอยแผลเป็นทิ้งไว้ มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าฝีดาษลิง หากสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ได้รับเชื้อฝีดาษ อาจส่งผลถึงขั้นแท้งบุตรในครรภ์ได้

โรคฝีดาษ (Smallpox) มีสาเหตุจากอะไร
โรคไข้ทรพิษ หรือ โรคฝีดาษ (Smallpox) เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสวาริโอลา ซึ่งสามารถติดต่อจากคนสู่คน โดยจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย รวมถึงการสัมผัสกับผื่นหรือตุ่มน้ำของผู้ป่วยโดยไม่มีการป้องกันก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้
ปัจจุบันโรคไข้ทรพิษถูกกวาดล้าง หมดไปจากโลกนี้แล้ว แต่ยังมีการเก็บตัวอย่างเชื้อไว้เพื่อใช้สำหรับการศึกษาเพิ่มเติม จนได้มีการผลิตยารักษาโรคไข้ทรพิษตัวใหม่คือ ยา Tecovirimat (TPOXX) ในปี 2561 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการระบาดในอนาคต
อาการโรคฝีดาษ
เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 7-17 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มแสดงอาการต่างๆ ดังนี้
- มีไข้สูง
- รู้สึกไม่สบายตัว หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
- ปวดหลังอย่างรุนแรง
- อาเจียน
- มีผื่นสีแดงขึ้นลามไปทั่วทั้งตัว แล้วกลายเป็นตุ่มน้ำและตุ่มหนองตามลำดับ
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากอะไร
โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้เกิดอาการในคนคล้ายกับโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ (Smallpox) ซึ่งถูกกวาดล้างหมดไปจากโลกแล้ว ตั้งแต่ปี 2523 แต่โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ยังเกิดขึ้นประปรายในบางพื้นที่ของทวีปแอฟริกา
โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษไปได้นั้น มีการฉีดวัคซีน หรือที่เรียกกันว่า “การปลูกฝี” เพื่อช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้ แต่เด็กที่เกิดหลังจากปี 2523 ซึ่งไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิง มากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ โดยอัตราการเสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิง พบสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 10
ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่อยู่ในชนบทห่างไกลของแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก บริเวณใกล้เขตป่าร้อนชื้น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ได้บ่อย เป็นสาเหตุให้โรคฝีดาษลิง แพร่ระบาดจากสัตว์จำพวกกระรอกและลิงมาสู่คนด้วยการสัมผัสกับเลือดสัตว์หรือถูกสัตว์เหล่านี้กัด
อาการโรคฝีดาษลิง
อาการของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) จะแสดงหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 12 วัน โดยมีอาการคล้ายโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษ (Smallpox) ในอดีต มีลักษณะอาการดังนี้
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ปวดกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- อาจมีอาการไอหรือปวดหลังร่วมด้วย
- มีผื่นขึ้นกระจายตามร่างกาย และกลายเป็นตุ่มหนอง
วิธีป้องกันและดูแลตนเองจากโรคฝีดาษและโรคฝีดาษลิง
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือ แอลกอฮอล์เจล
- งดรับประทานของป่า หรือปรุงอาหารจากสัตว์ป่า
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัตว์ป่าป่วย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติ มาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการ
- หลีกเลี่ยงการเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์ป่า จากต่างประเทศที่ไม่ทราบประเทศต้นทาง
สำหรับประเทศไทยเราน่ากลัวมั้ย
แม้ไทยยังไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมากเท่าไร แต่เป็นช่วงที่เริ่มเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น และเป็นช่วงเตรียมการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นของ โรคโควิด 19 ดังนั้น อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด หรือผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตกได้ ทั้งในช่องทางการเข้า-ออกระหว่างประเทศ หรือผู้ที่เดินทางจากประเทศดังกล่าวไปในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญต่างๆ ซึ่งการป้องกันไม่แตกต่างจากโควิดที่เรา โดยสุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ และหลีกเลี่ยงการเลี้ยงสัตว์แปลกจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยงนะครับ
บทความนี้เป็นเพียงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นกับสถานการณ์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเฝ้าระวังไม่ให้ตนเองและบุคคลรอบข้างนั้นติดเชื้อโรค อีกทั้งฝีดาษลิงไม่ได้ระบาดได้ง่ายเหมือนกับ โควิด-19 เพราะความเสี่ยงการติดเชื้อโดยผ่านระบบทางเดินหายใจมีน้อยกว่าการสัมผัสโดยตรงกับผู้ติดเชื้อ โรคนี้จะต้องใช้เวลากว่าเราจะกลับมาหายเป็นปกติ และไม่แพร่เชื้อส่งต่อให้ผู้อื่น