จากเหตุการณ์ล่าสุดที่เป็นข่าวในลักษณะการฆาตกรรมต่อเนื่อง ที่ได้สร้างความหวาดกลัวและหวาดระแวงให้กับคนสังคม โดยได้มีการพูดถึง สารพิษ ไซยาไนด์ (Cyanide) ความอันตรายและรุนแรงของเจ้าสารพิษตัวนี้ หากปนเปื้อนในอาหารหรือเครื่องดื่ม ก็ยากที่จะสังเกตุ วันนี้เรามาทำความรู้จักกันครับ
ยาไซยาไนด์
ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง อยู่ในทั้งรูปแบบ ของเเข็ง ของเหลว และแก๊ส เช่น Hydrogen Cyanide, Potassium Cyanide, Sodium Cyanide
- Sodium cyanide (NaCN) เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานอาจเป็นพิษถึงตายได้
- Potassium cyanide (KCN) มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายแอลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อ Potassium cyanide เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายจะรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- Hydrogen cyanide (HCN) อาจมาในรูปของของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา
- Cyanogen chloride (CNCl) มีลักษณะเป็นของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองรุนแรงเมื่อสูดดม
โดยปกติแล้วมีการนำไซยาไนด์มาใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การสกัดแร่ การผลิตกระดาษ พลาสติก หนังเทียม นอกจากนี้ ไซยาไนด์ยังพบในพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลังดิบ หน่อไม้สด และถั่วบางชนิด ซึ่งการทำให้สุกก็จะทำให้สารไซยาไนด์ที่มีในธรรมชาติของพืชเหล่านี้สูญสลายไปได้ แต่หากสารนี้มาในลักษณะของสารเคมีที่มีการปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย จะมีผลกระทบต่อร่างกายรุนแรงโดยจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์ จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
พิษของไซยาไนด์
ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง ที่สามารถพบได้ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกระบวนการทางธรรมชาติและจากกิจกรรมต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรม โดยไซยาไนด์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก การหายใจ และการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและตา โดยระดับความรุนแรงจากพิษของไซยาไนด์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ ชนิดของสิ่งมีชีวิต, ระยะเวลาการได้รับ, ปริมาณที่ได้รับ และเส้นทางการได้รับ เช่น การหายใจ การกลืน หรือการฉีด เป็นต้น
หากสัมผัสกับ ไซยาไนด์ ควรรับมืออย่างไร
ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีอันตราย หากสัมผัสกับสารชนิดนี้ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งวิธีการรับมือกับ ไซยาไนด์ อาจทำได้ ดังนี้
- การสัมผัสทางผิวหนัง หากร่างกายสัมผัสกับ ไซยาไนด์ ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อน ไซยาไนด์ ไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรงเพราะอาจได้รับพิษจาก ไซยาไนด์ ไปด้วย จากนั้นจึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
- การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอากาศที่มี ไซยาไนด์ ปนเปื้อนควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ
- การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้นให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ
วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับ ไซยาไนด์
การหลีกเลี่ยงและลดโอกาสในการสัมผัสกับ ไซยาไนด์ อาจทำได้ ดังนี้
– งดสูบบุหรี่ ซึ่งในบุหรี่ก็มีไซยาไนด์เจือปน ถึงแม้ว่าจะเป็นปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม
– เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
– ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลงหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสการสัมผัสและการสูดดมลงด้วย
– ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อน ไซยาไนด์ ออกนอกสถานที่ทำงานหรือนำกลับบ้าน
– ติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจาก ไซยาไนด์ อาจมาในรูปแบบของควันได้
– สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี หรือต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของ ไซยาไนด์
– ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูง เช่น เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พนักงานที่อยู่ในกระบวนการการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และพลาสติก ผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง เป็นต้น ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
